KODE ENDPOINT Management

ข่าวสาร และบทความ

ทำความรู้จักกับ Cloud Computing

Cloud Computing คือบริการเทคโนโลยี ที่ให้เราใช้หรือเช่าใช้ทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ กำลังประมวลผล หน่วยจัดเก็บข้อมูล ระบบออนไลน์ต่าง ๆ ของผู้ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่คุณสามารถเลือกกำลังการประมวลผล เลือกจำนวนทรัพยากร ได้ตามความต้องการในการใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลบนคลาวด์จากที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้

รายการ

รูปแบบของ Cloud Computing มีอะไรบ้าง?

Public Cloud


เป็นการใช้บริการระบบคลาวด์แบบเปิด สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ ให้บริการสาธารณะ ผู้ใช้บริการเข้าถึงข้อมูลรูปแบบต่าง ๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยผู้ให้บริการจะเป็นผู้ติดตั้งระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ขึ้นมา แล้วให้ผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือองค์กรเข้าใช้บริการ โดยสามารถเข้าใช้งานได้ฟรี หรืออาจจะมีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปี

ข้อดีของ Public Cloud คือ ค่าใช้จ่ายไม่สูง ไม่ต้องลงทุนตั้ง Cloud Datacenter เป็นของตัวเอง แต่ข้อเสียคือ ปัญหาด้านการตรวจสอบภายใน ด้านระบบไอที เพราะอาจจะไม่สามารถเก็บข้อมูลไว้นอกองค์กรได้

Private Cloud

คือระบบคลาวด์ส่วนตัว เป็นระบบปิด ใช้งานภายในองค์กร โดยแต่ละบริษัทหรือองค์กรจะลงทุนจัดหาติดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการทำ Cloud Datacenter ขึ้นมาเป็นของตัวเอง ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ทั้งการจัดเก็บข้อมูลและแอพพลิเคชั่นบน Data Center ของตัวเอง เพื่อให้บุคลากรในองค์กรสามารถใช้งานกันเองภายในได้เท่านั้น

ความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลสูงเพราะจัดเก็บอยู่ภายใน Datacenter ของตัวเอง แลกกับค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะลงทุนเองทั้งหมด รวมทั้งต้องแบกรับต้นทุนในการดูแลระบบคลาวด์เองด้วย นอกจากนี้ระบบคลาวด์ส่วนตัวจะไม่สามารถขยายระบบได้ทันท่วงที กรณีมีปริมาณการใช้งานสูง

Hybrid Cloud

ระบบคลาวด์แบบนำข้อดีของระหว่าง Public และ Private Cloud มาใช้ร่วมกัน เช่น การนำ Private Cloud มาใช้สำหรับเก็บข้อมูลภายในองค์กร เมื่อต้องการขยายระบบในช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูง ก็นำเอา Public Cloud มาช่วยในการประมวลผล

ข้อดีของ Hybrid Cloud คือ มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูงและอุดข้อเสียของทั้ง 2 รูปแบบนั้นได้ ในทางกลับกันก็ยังมีข้อเสีย คือ มีความยุ่งยาก เพราะคุณสมบัติของ Private Cloud และ Public Cloud แตกต่างกันมาก ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาปรับแต่งระบบให้ทำงานร่วมกัน ต้องมีการปรับปรุงและทดสอบบ่อยครั้ง เพื่อให้เกิดความเสถียรอยู่ตลอดเวลา

ประเภทการบริการของ Cloud Computing

ก่อนจะพูดถึงรูปแบบของบริการ Cloud Computing ในแบบต่าง ๆ เรามาดูรูปแบบของ On-premise System กันก่อน เพื่อที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่าง On-premise และ Cloud Computing ได้ชัดเจนขึ้น ว่าทำไม Cloud Computing ถึงมีบทบาทมาก ทั้งการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานในองค์กร

On-premise System คือระบบที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง โครงสร้างไอทีจะอยู่ในองค์กร นั่นหมายความว่า การติดตั้ง การบริหารจัดการ การดูแลบำรุงรักษา การปรับปรุงอัพเดททั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ องค์กรที่เป็นเจ้าของต้องทำด้วยตัวเอง รวมทั้งบริหารทีมงานไอทีและดูแลระบบปรับอากาศกับไฟฟ้าเองด้วย ดังนั้นเจ้าของระบบจะมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบเป็น Fixed Cost ในแต่ละปี

ในส่วนของบริการ Cloud Computing มีหลากหลายรูปแบบ แบ่งประเภทหลัก ๆ ได้ 3 ระดับ คือ

1. SaaS (Software as a Service)

คือบริการคลาวด์สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ที่ให้ใช้หรือเช่าใช้ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยประมวลผลบนระบบของผู้ให้บริการ และผู้ให้บริการจะเป็นผู้ดูแลระบบหลังบ้านให้ทั้งหมด ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องลงทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์ รวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันเอง ทั้งยังไม่ต้องพะวงเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาระบบ สามารถเรียกใช้งานซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันที่ไหนเมื่อไรก็ได้  

ตัวอย่างบริการแบบ SaaS ที่ใกล้ตัวและเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ บริการ Microsoft Office 365 และ Google Document ซึ่งให้บริการใช้ซอฟต์แวร์เอกสารผ่านเว็บบราวเซอร์ในการจัดการ เอกสาร ตาราง สูตรคำนวณ หรือให้สร้าง Presentation ได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์บนเครื่องเลย หรือพวกบริการการรับ-ส่งอีเมล เช่น Outlook, Gmail และ Hotmail  รวมไปถึงชุมชนสังคมออนไลน์ยอดนิยมอย่างเช่น Facebook, Instagram และ Twitter เป็นต้น  ซึ่งการประมวลผลของบริการซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันเหล่านี้จะทำบน Server ของผู้ให้บริการเอง ทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องที่มีกำลังประมวลผลสูงหรือพื้นที่เก็บข้อมูลมาก ๆ ในการทำงาน เป็นการลดต้นทุน ภาระในการดูแล และความยุ่งยากไปได้มาก

2. PaaS (Platform as a Service)

คือบริการแพลตฟอร์ม เหมือนเป็นส่วนขยายเพิ่มเติมมาจาก SaaS เป็นบริการคลาวด์ที่เหมาะกับผู้ใช้งานในกลุ่มของนักพัฒนาระบบ (Developer) ด้วยการใช้งานแพลตฟอร์มผ่านอินเตอร์เน็ต ผู้ให้บริการ PaaS จะเตรียมแพลตฟอร์มหรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ เช่น Hardware, Software, Hosting และชุดคำสั่ง รวมถึงดูแลระบบหลังบ้าน เพื่อให้นักพัฒนาระบบสามารถนำไปต่อยอดได้เลย ช่วยให้ลดต้นทุนและเวลาที่ใช้ในการพัฒนาซอฟท์แวร์เป็นอย่างมาก

บริการแบบ PaaS จะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร ทำให้สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์หรือเว็บแอปพลิเคชันที่ให้บริการคนจำนวนมหาศาลได้ โดยใช้เวลาพัฒนาไม่นานด้วยทีมงานแค่ไม่กี่คน ยกตัวอย่างเช่น Google App Engine และ Microsoft Azure แพลตฟอร์มที่สามารถนำมาพัฒนาแอปพลิเคชัน อย่างบริการของ Amazon Web Services (AWS) เช่น Elastic Beanstalk ก็จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน นอกจากนี้ยังมี OpenShift Heroku Apache Stratos และ Magento เป็นต้น

3. IaaS (Infrastructure as a Service)

เป็นบริการคลาวด์ที่เหมาะกับสายงาน Operation หรือสำหรับองค์กรที่ไม่ต้องการลงทุนทางด้าน Hardware ให้บริการครอบคลุมเฉพาะในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ เช่น หน่วยประมวณผล (processing unit) , เครือข่ายข้อมูล (network) , ระบบเก็บข้อมูล (storage) หรือพื้นที่เซิร์ฟเวอร์ (hosting) เป็นต้น ซึ่งผู้ให้บริการจะรับผิดชอบดูแลให้ โดยที่ผู้ใช้บริการ IaaS ไม่ต้องลงทุนสิ่งเหล่านี้เอง ช่วยให้ลดความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบเองได้ ผู้ใช้บริการ IaaS จะมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบไอที สามารถเลือกใช้ระบบคลาวด์ได้อย่างเหมาะสม ปรับขยายหรือลดขนาดได้ตามความต้องการหรือนโยบายขององค์กร

ยกตัวอย่าง IaaS เช่น บริการ  Cloud storage ต่าง ๆ เช่น Dropbox , ICloud Drive ,Google Drive และ Microsoft Onedrive เป็นต้น หรือบริการจำพวกให้เช่ากำลังประมวลผล เซิร์ฟเวอร์เสมือน เช่น  Google Compute Engine, Microsoft Azure, OpenLandscape Cloud และ Amazon Web Services เป็นต้น

Cloud Computing ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ไกลตัว และการเติบโตของ Cloud Computing จะเป็นอีกเทรนด์ที่น่าจับตาในปี 2021 ซึ่งจะเกิดขึ้นในทุกบริการ ไม่ว่าจะเป็น IaaS PaaS หรือ SaaS รวมทั้งทุกรูปแบบอย่าง Public Private และ Hybrid Cloud ไม่ว่า Covid-19 จะหมดไปหรือกลายเป็นโครประจำถิ่น คุณคงไม่เลิกใช้งาน Zoom ในการประชุมหรือเรียนออนไลน์ ฝากไฟล์ผ่าน Google Drive หรือ Dropbox หลาย ๆ คนยังคงฟังเพลงผ่าน Spotify ดูภาพยนต์หรือซีรีส์ผ่าน Netflix ใช้สื่อบันเทิงออนไลน์ผ่านระบบสตรีมมิงต่าง ๆ เหมือนเคย และอีกหลาย ๆ แอปพลิเคชันที่ปริมาณการใช้งานก็ไม่ได้ลดลงเลย ความเป็นดิจิทัลกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในทุกกลุ่ม (Digital Business Transformation) ในขณะที่ภาคธุรกิจบางส่วนถูกชะงักงันด้วยการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล (Digital Disruption) แน่นอนว่าธุรกิจต้องปรับตัวและลงทุนเพื่อเอาเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกให้การดำเนินธุรกิจ

สรุป

Cloud Computing จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับ องค์กร บริษัท ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ในการหาช่องทางช่วยในการลดต้นทุน ช่วยประหยัดเวลา ลดความยุ่งยากในการลงทุน การสร้างระบบคอมพิวเตอร์ การบำรุงรักษาในระยะยาว และการบริหารจัดการด้านไอทีเอง เป็นเทรนด์ที่น่าจับตาในปี 2021 นี้ ที่น่าจะเป็นอีกคำตอบที่ทำให้องค์กรหรือหน่วยงานมีความยืดหยุ่นที่เพิ่มมากขึ้น ลดความยุ่งยากในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ช่วยให้สามารถขยับตัวเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้เร็วกว่าคู่แข่งและทันท่วงที

ข่าวสาร และบทความ บริการคลาวด์ แบบ Infrastructure as a … Continue reading บริการคลาวด์ แบบ Infrastructure as a service (IaaS) คืออะไร

ข่าวสาร และบทความ ทำความรู้จักกับ Cloud Computing Cloud… Continue reading ทำความรู้จักกับ Cloud Computing

ข่าวสาร และบทความ ทำไม Cloud Computing จึงเป็นเทรนด์ที่… Continue reading ทำไม Cloud Computing จึงเป็นเทรนด์ที่น่าจับตาในปี 2021

ข่าวสาร และบทความ เลือกอย่างไรให้เหมาะ ระหว่างซอฟต์แวร์… Continue reading เลือกอย่างไรให้เหมาะ ระหว่างซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ และเว็บแอพพลิเคชั่น